ประเพณีท้อองถิ่นภาคใต้

ลากพระหรือชักพระ


ช่วงเวลา วันออกพรรษา (วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑)
ความสำคัญ
เป็นประเพณีเนื่องในพุทธศาสนา กระทำกันหลังวันมหาปวารณาหรือวันออกพรรษา ๑ วัน คือตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยพุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่เหนือเรือ รถ หรือล้อเลื่อนที่ชาวบ้านเรียกว่า "พนมพระ" แล้วแห่แหนชักลากไปตามถนนหนทาง หรือในลำน้ำ แล้วแต่สภาพภูมิประเทศจะเหมาะสม ซึ่งชาวใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงมาหลายจังหวัดจะมีประเพณีนี้
ประเพณีลากพระของชาวใต้มีมาแต่โบราณและก่อให้เกิดวัฒนธรรมอื่น ๆ สืบเนื่องหลายอย่าง เช่น ประเพณีการแข่งขันเรือพาย การประชันโพนหรือแข่งโพน กีฬาซัดต้ม การทำต้มย่าง การเล่นเพลงเรือ เป็นต้น นอกจากนั้นประเพณีชักพระยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันทำคุณงามความดี ก่อให้เกิดความสามัคคีธรรมของหมู่คณะ นำความสุขสงบมาให้สังคม

พิธีกรรม
เมื่อเดือน ๙ ผ่านไป หลายวัดที่ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะร่วมประเพณีลากพระในเดือน ๑๑ ก็เริ่มเตรียมการหุ้มโพนเพื่อใช้ "คุมโพน" (ประโคมล่วงหน้า) และใช้ประโคมในวันพิธี รวมทั้งให้ชาวบ้านนำไปประชันหรือแข่งขันกับวัดอื่น ๆ การหุ้มโพนมีกรรมวิธีที่ซับซ้อนทั้งในขุดและขึงหนังตึงเต็มที่ โดยใช้เวลานานแรมเดือนบางวัดมีพิธีไสยศาสตร์ประกอบด้วย แต่ละวัดจะต้องมีโพน ๒ ใบ ให้เสียงทุ้ม ๑ ใบ เสียงแหลม ๑ ใบ วัดไหนมีโพนเสียงดีแข่งขันชนะชาวบ้านก็พลอยได้หน้าชื่นชมยินดีกันไปนานแรมปี
เมื่อใกล้วันลากพระ ประมาณ ๗ หรือ ๓ วัน ทุกวัดที่จะทำการลากพระก็จะเริ่มคุมโพน (ตีประโคม) เพื่อปลุกใจชาวบ้านให้กระตือรือร้นร่วมพิธีลากพระและอาจนำไปท้าทายแข่งขันกับวัดใกล้เคียง พร้อมกันนั้นภิกษุสามเณรและอุบาสกที่มีฝีมือทางช่างก็ช่วยกันตกแต่งเรือพระและพนมพระ (บุษบก) ซึ่งต้องทำกันสุดฝีมือ ทางช่างก็ช่วยกันตกแต่งเรือพระและพนมพระ (บุษบก) ซึ่งต้องทำกันสุดฝีมือ สำหรับอาราธนาพระพุทธรูปประดิษฐาน ถ้าลากทางน้ำเรียกว่า "เรือพระน้ำ" ซึ่งจะใช้เรือจริง ๆ มาประดิษฐ์ตกแต่งถ้าลากพระทางบกเรียกว่า "เรือพระบก" และจะใช้รถหรือล้อเลื่อนประดิษฐ์ตกแต่งให้เป็นรูปเรือ เรือพระน้ำจะใช้เรือสำปั้นหรือเรือสำหรับลากจูง ขนาดบรรทุกความจุประมาณ ๓-๕ เกวียน สมัยก่อนนิยมใช้เรือ ๒-๓ ลำ ผูกขนานกัน ปัจจุบันใช้เพียงลำเดียวเพราะหาเรือยาก
ถ้าเป็นเรือพระบก โบราณจะทำเป็นรูปเรือให้คล้ายกับเรือจริงมากที่สุด แต่ต้องพยายามให้มีน้ำน้อย จึงมักใช้ไม้ไผ่สานหรือเสื่อกระจูดมาตกแต่งตรงส่วนที่เป็นแคมเรือและหัวท้ายเรือ การตกแต่งเรือพระบกมักแต่งหัวเรือและท้ายเรือเป็นรูปพญานาค อาจทำเป็นพญานาค ๕ ตัว หรือ ๗ ตัว ใช้กระดาษสีเงิน สีทอง หรือกระดาษสีสะท้อนแสงฉลุลวดลายสวยงามทำเป็นเกล็ดนาค สะท้อนแสงระยิบระยับไปทั้งลำ
ส่วนสำคัญที่สุดของเรือคือ บุษบกจะบรรจงตกแต่งกันอย่างสุดฝีมือ หลังคาบุษบกนิยมทำเป็นแบบจตุรมุขหรือจตุรมุขซ้อน รูปทรงชะลูด งามสง่าสะดุดตาตกแต่งด้วยหางหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา ตัวลำยอง กระจัง ฐานพระ บัวปลายเสา คันทวย เป็นต้น เสาบุษบกมีลายแทงหยวก หรือใช้กระดาษสีหรือฉลุลวดลายปิดอย่างประณีตบรรจงงดงามอย่างได้สัดส่วน ยอดบุษบกจะเรียวชะลูด ปลายสุด มักใช้ลูกแก้วฝังหรือติดไว้ เมื่อต้องแสงแดดจะทอแสงระยิบระยับ
จากปลายบุษบกจะมีธงทำด้วยผ้าหลากสี ผู้ห้อยโยงไปยังส่วนต่าง ๆ ของประทุน หัวและท้าย นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ยังช่วยพยุงให้บุษบกทรงตัวอยู่ได้อย่างมั่นคง
พระพุทธรูปที่นำมาประดิษฐานประจำเรือพระเรียกว่า "พระลาก" ซึ่งแต่ละวัดจะมีพระประจำวัด เป็นพระพุทธรูปปางคันธารราษฎร์ (ปางขอฝน) เพราะชาวใต้เชื่อว่าการลากพระนอกจากจะได้บุญแล้ว ยังช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีความเชือกันว่าขณะที่ลากพระนั้นถ้ามีใครแอบเอาเศษไม้ไปสอดไว้ที่ฐานพระลากจะก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นระหว่างผู้ที่ลากพระด้วยกัน จึงต้องคอยระวังดูแลอย่างใกล้ชิด
อีกส่วนหนึ่งที่เรือพระจะขาดเสียไม่ได้คือ ที่สำหรับแขวนต้มบูชาพระ เพราะพุทธศาสนิกชนทุกครัวเรือนจะพยายามนำต้มไปแขวนบูชาพระลากตามคติความเชื่อให้ครบถ้วนเท่าจำนวนพระ (ซึ่งจะเท่ากับจำนวนวัดที่ลากพระ)
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อยู่คู่เคียงกับประเพณีชักพระคือ ข้าวต้ม ดังนั้น ก่อนวันลากพระจะมาถึง ๑-๒ วัน ชาวบ้านจะสาละวนอยู่กับการแทงต้ม ซึ่งเริ่มจากการเตรียมหายอดกระพ้อ นำข้าวสารเหนียวมาแช่ให้อิ่มตัวแล้วผัดด้วยกะทิให้เกือบสุก (บางรายนิยมแทรกด้วยถั่ว เรียกว่า "ต้มใส่ถั่ว") ซึ่งต้องต้มถั่วเหลืองหรือถั่วดำให้สุกเสียก่อน เมื่อผัดข้าวเหนียวเข้ากับกะทิจนเกือบจะได้ที่แล้ว จึงค่อยผสมถั่วคลุกเคล้าลงไปให้เข้ากันดี แล้วตักใส่ภาชนะวางทิ้งไว้ให้เย็นแล้วจึงนำมาห่อด้วยใบกระพ้อ ห่อเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายฝักกระจับ แต่ละลูกจะมีขนาดโตประมาณกิน ๒-๓ คำ การก่อตัวต้องรู้วิธีม้วนขอดปลายใบกระพ้อขึ้นรูปเป็นมุมแรกสำหรับยัดข้าวเหนียวใส่ รู้วิธีการพันห่อ การสอดซ่อนปลายโคนใบและดึงปลายเพื่อให้รัดแน่นได้รูปทรงสามเหลี่ยมสวยงาม เรียกวิธีการห่อต้มว่า "แทงต้ม" เมื่อแทงต้มเสร็จแล้วจึงนำไปต้มจนน้ำแห้งขอด จะได้ต้มที่สุกเหนียว
หอม อร่อย บางคนอาจใช้วิธีการนึ่งได้
เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บรรดาชาวบ้าน อุบาสก อุบาสิกาจะพร้อมกันอัญเชิญพพระพุทธรูปสำหรับใช้เป็นพระลากมาทำพิธีสรงน้ำ ขัดถูก ซึ่งจะใช้มะขามเปียก มะเฟือง หรือส้มอื่น ๆ เพื่อให้แลดูสวยงาม เปลี่ยนผ้าทรงและสมโภช ในคืนนั้น จะต้องเร่งรีบเตรียมเรือพระให้เสร็จสิ้นพร้อมสรรพทุกประการ

สาระ
เมื่อถึงเช้าตรู่ของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จะอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกเหนือเรือพระ นิมนต์พระภิกษุในวัดนั้นทั้งหมดขึ้นนั่งประจำเรือพระ พร้อมทั้งอุบาสกและศิษย์วัดที่จะติดตามและประจำเครื่องประโคมอันมี โพน (กลองเพล) ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ แล้วชาวบ้านก็จะช่วยกันลากเรือพระออกจากวัด (ภิกษุที่จะร่วมไปด้วยต้องรับฉันภัตตาหารเช้าให้เรียบร้อยเสียก่อน) ถ้าเป็นลากพระทางน้ำก็จะใช้เรือพายลาก ถ้าเป็นการลากพระทางบกก็จะใช้คนเดินลากแล้วแต่กรณี
ขณะที่ลากเรือพระไปใครจะมาร่วมแขวนต้มบูชาพระ หรือร่วมลากตอนไหนก็ได้ เกือบทุกท้องถิ่นกำหนดให้มีจุดนัดหมาย เพื่อให้บรรดาเรือพระทั้งหมดในละแวกใกล้เคียงไปชุมนุมในที่เดียวกันในเวลาก่อนพระฉันเพล ให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาส "แขวนต้ม" และถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรได้ทั่วทุกวัดหรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โอกาสนี้จึงก่อให้เกิดการประกวดประชันกันขึ้นโดยปริยาย เช่น การประกวดเรือพระ การแข่งขันเรือพาย การเล่นเรือโต้แก้จำกัด การประกวดเรือเพรียวประเภทต่าง ๆ เช่น มีฝีพายมากที่สุด แต่งตัวสวยงามที่สุด หรือตลกขบขัน หรือมีความคิดริเริ่มดี มีการแข่ง
ขันตีโพนประเภทตีดัง ตีทน ตีท่าพลิกแพลง ลีลาการตีสวยงาม เป็นต้น และบางทีก็มีกิจกรรมแปลก ๆ เช่น กีฬาซัดต้ม
การประกวดเรือพระสมัยก่อนมักให้รางวัลเป็นของที่จำเป็นสำหรับวัด เช่น น้ำมันก๊าด กาน้ำ ถ้วยชาม สบง จีวร เสนาสนะสงฆ์ แต่ปัจจุบันรางวัลมักจะให้เป็นเงินสด
สำหรับในท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี การชักพระทางบก ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า วัดสุวรรณากร (บ่อทอง) วัดโมลีนิมิตร (วัดหรั่ง) วัดหน้าเกตุ วัดมะกรูด วัดปุราณประดิษฐ์ (วัดบู) วัดมะเดื่องทอง (กาโผะ) วัดสมุทรวารี (ป่าโทะ) วัดโรงวาส และวัดใกล้เคียงในอำเภอหนองจิก อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และอำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ได้ชักลากพระวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปตามเส้นทางสู่หน้าที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ เป็นจุดหมายปลายทาง และมีการเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน มีมหรสพให้ชมตลอดทั้งคืน มีการประกวดเรือพระ รุ่งเช้าจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ตกช่วงบ่ายชักชวนกันลากพระกลับวัด ปัจจุบันประเพณีชักพระอำเภอโคกโพธิ์ มีการสมโภชและการเฉลิมฉลองกันเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ซึ่งเป็นประเพณีที่ภาคภูมิใจของชาวไทยพุทธ
ส่วนการชักพระทางน้ำ ทุกวัดต้องมีการสร้างพระเรือครัว เรือพายหญิง เรือพายชาย ตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม และจะมีการลากพระล่วงไปตามลำน้ำยามูสู่บ้านท่าทราย ใต้ต้นไทรใหญ่กิ่งไพศาลริมน้ำยามู รวมหมู่เทียบเรือพระสมโภชตักบาตร เลี้ยงพระเสร็จแล้วมีการแข่ง ขันเรือพายหญิง เรือพายชาย ไล่สาดน้ำกัน เกี้ยวพาราสี ร้องเพลงขับกล่อมตามประเพณีนิยมท้องถิ่นจนพลบค่ำ
ประเพณีลากพระได้ปรับเปลี่ยนเติมแต่งต่างออกไปจากเดิมหลายอย่าง เช่น นิยมใช้เรือหางยาวแทนเรือเพรียว เพราะจากเรือขนาดใหญ่ทำเรือพระได้ยากขึ้น มีการใช้รถยนต์มาดัดแปลงแทนล้อเลื่อน มีการตกแต่งบุษบกหรือ "นมพระ" ด้วยวัสดุสมัยใหม่ เช่น โฟม กระดาษ พลาสติก หลังคาซ้อนกันเป็นจตุรมุขก็มี บางวัดมีการนำเอากลองยาวมาประกอบขบวนแห่ มีการตั้งหีบรับเงินอนุโมทนา ติดตั้งเครื่องขยายเสียง ชักชวนให้มีการทำบุญหรือเรี่ยไร ประชาชนหันมานิยมซื้อต้มจากตลาดแทนการทำเอามากขึ้น ปรากฏการณ์หลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจะดีหรือไม่คงไม่มีใครตอบได้ ขอให้ท่านพิจารณาไตร่ตรองเอาเองตามสมควรเถิด





ประเพณีลอยเรือ
ช่วงเวลา ๑๓-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑

ความสำคัญ
ประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวอูรักลาโวย ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง เมื่อถึงเวลาที่กำหนดสมาชิกในชุมชนและญาติพี่น้องที่แยกย้ายถิ่นไปทำมาหากินในแถบทะเล และหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามันจะพากันเดินทางกลับมายังถิ่นฐาน เพื่อประกอบพิธีนี้

พิธีกรรม
ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ช่วงเช้า ชาวเลจะเดินทางไปบริเวณที่จะทำพิธี ผู้หญิงจะทำขนม ผู้ชายจะสร้างและซ่อมแซมที่พักชั่วคราว ช่วงเย็น ทั้งหญิงและชายจะไปรวมกันที่ศาลบรรพบุรุษเพื่อนำอาหารเครื่องเซ่นไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษเป็นการบอกกล่าวให้มาร่วมพิธีลอยเรือ
เช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งเดินทางไปตัดไม้ เพื่อนำไม้มาทำเรือผู้หญิงจะร้องรำทำเพลง ในขณะที่รอรับไม้บริเวณชายฝั่ง แล้วขบวนแห่จะแห่ไม้ไปวนรอบศาลบรรพบุรุษเพื่อนำกลับมาทำเรือ "ปลาจั๊ก" คืนวันขึ้น ๑๔ ค่ำ มีพิธีฉลองเรือโดยมีการรำรอบเรือ เพื่อถวายวิญญาณบรรพบุรุษโดยใช้ดนตรีและเพลงรำมะนาประกอบวงหนึ่งและอีกวงจะเป็นการรำวงแบบสมัยใหม่มีดนตรีชาโดว์ประกอบการร้องรำ โต๊ะหมอจะทำพิธีในช่วงเริ่มฉลองเรือและมีพิธีสาดน้ำตอนเที่ยงคืน (เลฮฺบาเลฮฺ) และทำพิธีอีกครั้งในช่วงเช้าตรู่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ก่อนนำเรือไปลอยในทิศทางลมซึ่งแน่ใจว่าเรือจะไม่ลอยกลับเข้าฝั่ง หลังจากนั้นแยกย้ายกันนอนพักผ่อน
บ่ายวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งแยกย้ายไปตัดไม้และหาใบกะพร้อเพื่อทำไม้กันผีสำหรับทำพิธีฉลองในเวลากลางคืน โดยมีพิธีกรรมเหมือนกับพิธีฉลองเรือทุกประการ จนกระทั่งใกล้จะสว่างโต๊ะหมอจะทำพิธีเสกน้ำมนต์ทำนายโชคชะตา และสะเดาะเคราะห์ให้สมาชิกที่เข้าร่วมพิธีก่อนจะอาบน้ำมนต์ และแยกย้ายกันกลับบ้านโดยนำไม้กันผีไปปักบริเวณรอบหมู่บ้านด้วย

สาระ
ประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษอันเกี่ยวเนื่องกับตำนานความเชื่อความเป็นมาและวิถีชีวิตทุกอย่างของชาวเลอูรักลาโวย การจัดพิธีฉลองเรือก็เพื่อการสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณกลับสู่บ้านเมืองเดิม และการส่งสัตว์ไปไถ่บาป
เรือปลาจั๊กที่ทำขึ้นในพิธีลอยเรือ ทำจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำเป็นสัญลักษณ์ของ "ยาน" ที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปสู่อีกภพหนึ่ง มีชิ้นไม้ระกำที่สลักเสลาอย่างสวยงามเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ ประดับประดาอยู่ในเรือ รูปนกเกาะหัวเรือ หมายถึง "โต๊ะบุหรง" บรรพบุรุษผู้ซึ่งสามารถห้ามลมห้ามฝน ลายฟันปลา หมายถึง "โต๊ะบิกง" บรรพบุรุษที่เป็นฉลาม ลายงูหมายถึง "โต๊ะอาโฆะเบอราไตย" บรรพบุรุษที่เป็นงู ฯลฯ ในเรือยังมีตุ๊กตาไม้ระกำทำหน้าที่นำเคราะห์โศกโรคภัยของสมาชิกในแต่ละครอบครัวเดินทางไปกับเรือและเครื่องเซ่นต่าง ๆ ที่จะให้วิญญาณบรรพบุรุษนำติดตัวไปยังถิ่นฐานเดิมที่เรียกว่า "ฆูนุงฌึไร"
การร่ายรำแบบดั้งเดิมผสมผสานกับบทเพลงเก่าแก่และดนตรีรำมะนา เป็นส่วนประกอบที่เร้าใจและเป็นการรำถวายต่อบรรพบุรุษ ทุกคนที่รำเชื่อว่าจะได้บุญ
โต๊ะหมอผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรม เชื่อว่าเป็นผู้ที่สามารถสื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้าและวิญญาณบรรพบุรุษได้ ผู้ที่ผ่านพิธีลอยเรือถือว่าจะเป็นผู้ที่ผ่านทุกข์โศกโรคภัยไปหมดแล้ว ชีวิตต่อไปข้างหน้าจะประสบแต่ความสุขและโชคดีในการทำมาหากิน


                               ประเพณีสารทเดือนสิบ





ช่วงเวลา ระยะเวลาของการประกอบพิธีสารทเดือนสิบมีขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำถึงแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ แต่วันที่ชาวนครศรีธรรมราชนิยมทำบุญคือวันแรม ๑๓-๑๕ ค่ำ

ความสำคัญ
เป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ที่เชื่อว่าบรรพบุรุษอันได้แก่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ
ในโอกาสนี้เองลูกหลานและผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที

พิธีกรรม
พิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบ มีดังนี้
๑. การจัดหฺมฺรับ
เริ่มในวันแรม ๑๓ ค่ำ ชาวบ้านจะเตรียมซื้ออาหารแห้ง พืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ จัดเตรียมใส่หฺมฺรับ
การจัดหฺมฺรับ คือ การบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ถาด กาละมัง เข่ง กระเชอ เป็นต้น ชั้นล่างสุดบรรจุอาหารแห้ง ชั้นสองเป็นพืชผักที่เก็บไว้นาน ชั้นสามเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ขั้นบนสุด ประดับขนมสัญลักษณ์เดือนสิบ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมแต่ละชนิดมีความหมายดังนี้
ขนมลา เป็นเสมือนเสื้อผ้าที่ให้บรรพบุรุษใช้นุ่งห่ม
ขนมพอง เป็นเสมือนแพที่ให้บรรพบุรุษข้ามห้วงมหรรณพ
ขนมกง เป็นเสมือนเครื่องประดับ ใช้ตกแต่งร่างกาย
ขนมบ้า เป็นเสมือนเมล็ดสะบ้า ไว้เล่นในวันตรุษสงกรานต์
ขนมดีซำ เป็นเสมือนเงินตรา ไว้ให้ใช้สอย
๒. การยกหฺมฺรับ
ในวันแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะยกหฺมฺรับที่จัดเตรียมไว้ไปวัด และนำภัตตาหารไปถวายพระด้วย โดยเลือกไปวัดที่อยู่ใกล้บ้านหรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยมไป
๓. การฉลองหฺมฺรับและบังสุกุล
เมื่อนำหมฺรับไปวัดแล้ว จะมีการฉลองหฺมฺรับ และทำบุญเลี้ยงพระเสร็จแล้วจึงมีการบังสุกุล การทำบุญวันนี้เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปยังเมืองนรก
๔. การตั้งเปรต
เสร็จจากการฉลองหมฺรับและถวายภัตตาหารแล้ว ชาวบ้านจะนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามบริเวณลานวัด ข้างกำแพงวัด โคนไม้ใหญ่ เรียกว่า ตั้งเปรต เพื่อแผ่ส่วนกุศลเป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติไม่มาร่วมทำบุญให้ การชิงเปรตจะทำตอนตั้งเปรตเสร็จแล้ว เพราะเชื่อว่าถ้าหากใครได้กินของเหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ จะได้รับกุศลเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
บางวัดนิยมสร้างหลาเปรต เพื่อสะดวกแก่การตั้งเปรต บางวัดสร้างหลาเปรตไว้บนเสาสูงเพียงเสาเดียว เกลาและชะโลมน้ำมันเสาจนลื่น เมื่อเวลาชิงเปรตผู้ชนะคือผู้ที่สามารถปีนไปถึงหลาเปรตซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จึงสนุกสนานและตื่นเต้น

สาระ
ประเพณีสารทเดือนสิบมีสาระสำคัญหลายประการ ดังนี้
๑. เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ได้อบรมเลี้ยงดูลูกหลาน เพื่อตอบแทนบุญคุณ ลูกหลานจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้
๒. เป็นโอกาสได้รวมญาติที่อยู่ห่างไกล ได้พบปะทำบุญร่วมกันสร้างความรักใคร่สนิทสนมในหมู่ญาติ
๓. เป็นการทำบุญในโอกาสที่ได้รับผลผลิตทางการเกษตรที่เริ่มออกผลเพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
๔. ฤดูฝนในภาคใต้จะเริ่มขึ้นในปลายเดือนสิบ พระภิกษุสงฆ์บิณฑบาตยากลำบาก ชาวบ้านจึงจัดเสบียงอาหารนำไปถวายพระในรูปของหฺมฺรับ ให้ทางวัดได้เก็บรักษาเป็นเสบียงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในฤดูฝน
ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ ของประเทศไทย โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อซึ่งมาจากทางศาสนาพราหมณ์โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเข้ามาในภายหลัง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ ซึ่งเรียกกันว่า วันหลองหฺมฺรับ แต่ละครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะร่วมกันนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาจัดเป็นหฺมฺรับ /หมะหรับ/ สำหรับการจัดหฺมฺรับนั้นไม่มีรูปแบบที่แน่นอน จะจัดเป็นรูปแบบใดก็ได้ แต่ลำดับการจัดของลงหฺมฺรับจะเหมือน ๆ กัน คือ เริ่มต้นจะนำกระบุง กระจาด ถาด หรือกะละมัง มาเป็นภาชนะ แล้วรองก้นด้วยข้าวสาร ตามด้วยหอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล และเครื่องปรุงอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ ต่อไปก็ใส่ของจำพวกอาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม และผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน ๆ เช่น ฟักเขียว ฟักทอง มะพร้าว ขมิ้น มัน ลางสาด เงาะ ลองกอง กล้วย อ้อย ข้าวโพด ข่า ตะไคร้ ฯลฯ จากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ไต้ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไม้ขีด หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย และเครื่องเซี่ยนหมาก สุดท้ายก็ใส่สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการจัดหฺมฺรับ คือ ขนม 5 อย่าง ( บางท่านบอกว่า 6 อย่าง ) ซึ่งขนมแต่ละอย่างล้วนมีความหมายในตัวเอง คือ ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณ ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ ขนมดีซำ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่น ในกรณีที่มีขนม 6 อย่าง ก็จะมีขนมลาลอยมัน ซึ่งใช้แทนฟูกหมอน เข้าไปด้วย 3) การยกหฺมฺรับ ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งเป็นวันยกหมฺรับ ต่างก็จะนำหมฺรับพร้อมภัตตาหารไปวัด โดยแต่ละคนจะแต่งตัวอย่างสะอาดและสวยงาม เพราะถือเป็นการทำบุญครั้งสำคัญ วัดที่ไปมักจะเป็นวัดใกล้บ้านหรือวัดที่ตนศรัทธา การยกหมฺรับไปวัดอาจต่างครอบครัวต่างไปหรืออาจจัดเป็นขบวนแห่ ทั้งนี้เพื่อต้องการความสนุกสนานรื่นเริงด้วย วัดบางแห่งอาจจะจัดให้มีการประกวดหฺมฺรับในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ได้จัดให้มีขบวนแห่หมฺรับอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาในงานเดือนสิบทุก ๆปี โดยมีองค์กรทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนต่างส่งหฺมฺรับของตนเข้าร่วมขบวนแห่และร่วมการประกวด ซึ่งในช่วงเทศกาลนี้สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราชมากยิ่งขึ้น
เมื่อขบวนแห่หฺมฺรับมาถึงวัดแล้ว ก็จะร่วมกันถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน ตั้งเปรตเพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในอดีตมักตั้งเปรตบริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด แต่ปัจจุบันนิยมตั้งบน หลาเปรตโดยอาหารที่จะตั้งนั้นจะเป็นขนมทั้ง 5 หรือ 6 อย่างดังกล่าวข้างต้น รวมถึงอาหารอื่น ๆ ที่บรรพชนชอบ ตั้งเปรตเสร็จแล้ว พระสงฆ์จะสวดบังสุกุล โดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับหลาเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้คนจะร่วมกัน ชิงเปรตโดยการแย่งชิงอาหารบนหลาเปรต ทั้งนี้นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้วยังมีความเชื่อว่า หากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศลแรง เป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เสร็จสิ้นการชิงเปรตต่างก็แยกย้ายกลับบ้านด้วยใจอิ่มบุญ

ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบจะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปีแต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักจะ นิยมทำบุญกันมากคือวันแรม 13-15 ค่ำ ประเพณีวันสารทเดือนสิบโดยในส่วนใหญ่แล้วจะตรงกับเดือนกันยายน
ประเพณีตักบาตรรูปเทียน

          ประเพณีตักบาตรธูปเทียนนั้น ถือเป็นหนึ่งในประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนคร และเป็นประเพณีเก่าแก่ต้นแบบคู่มากับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อย่างน้อยก็มีกล่าวไว้แต่
ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ครั้งสุโขทัยแล้วว่ประเพณีตักบาตรธุปเทียนอันมีต้นกำเนินที่เมืองนคร
ได้เผยแพร่ไปสู่สุโขทัย ทั้งนี้เป็นเพราะพุทธศาสนาได้แพร่ขยายเข้ามาที่เมืองนครก่อนเป็น
แห่งแรก
        ประเพณีตักบาตรธูปเทียนเป็นส่วนหนึ่งของพิธีถวายสังฆทานเนื่องในโอกาสเข้าพรรษา
ณ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เมื่อถึงวันดังกล่าวชาวเมืองนครจะต่างพากันไปที่วัดในชุมชนของตน
พร้อมทั้งนำเทียนพรรษาขนาดใหญ่พอที่จะใช้ได้ตลอดพรรษา กับดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าอาบน้ำฝน
ดั่ง เตียง ตะเกียง ยา และอาหารแห้ง ไปถวายพระที่วัดด้วย
        แต่เดิมนั้น การตักบาตรธูปเทียนจัดกันที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเพียงแห่งเดียว
ตั้งแต่เมื่อครั้งที่วัดพระมหาธาตุฯ ยังไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เมื่อปรากฏว่าเครื่องสังฆทานที่
ชาวบ้านนำมาถวายมีมากเกินไป ใช้ทั้งปีก็ไม่หมด จึงมีการอาราธนาพระจากวัดอื่นๆ
รอบวัดพระมหาธาตุฯ มารับเครื่องสังฆทานด้วย โดยนิมนต์ให้มายืนเข้าแถวยาวเหยียดที่
หน้าวิหารทับเกษตร ชาวบ้านจะได้นำเครื่องสังฆทานพร้อมทั้งกำดอกไม้ธูปเทียนที่เตรียมมา
ไปใส่ลงในย่ามพระที่เรียงแถวอยู่นั้น เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะพากันไปจุดเปรียงหรือ
ที่เรียกว่า "จองเปรียง" (เปรียงตามศัพท์แปลว่าไขข้อโค คือไขมันสัตว์นั่นเอง) ตามหน้าพระพุทธรูปและฐานเจดีย์ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยใช้วิธีการง่ายๆ
คือใส่ด้ายดิบลงไปในภาชนะเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ เปลือกหอยแครง หยอดน้ำมันมะพร้าว
หรือไขมันสัตว์ลงไปแล้วจุดไฟ
        ปัจจุบัน รายละเอียดของพิธีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อย่างเช่น สถานที่ที่พระจะมารับบิณฑบาตดอกไม้ธูปเทียนนั้นนอกจากจะเป็นบริเวณหน้าวิหารทับเกษตร
เช่น ในอดีตแล้ว ยังขยายต่อออกมาที่ลานหน้าวัดในตัวเมืองนคร ด้วยเหตุนี้ในตอนบ่ายวันเข้าพรรษา จะได้เห็นพระสงฆ์จำนวนมากมายออกมารับบิณฑบาตดอกไม้ธูปเทียนกันเป็นทิวแถว ดอกไม้ที่นำมาตักบาตรนั้นก็กลายเป็นดอกไม้สดที่พ่อค้าแม่ค้าจัดเตรียมมาเพื่อการนี้ แทนที่จะเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ที่ชาวบ้านต่างคนต่างทำกันมาสำหรับวันนี้โดยเฉพาะ และการจุดเปรียงนั้นก็เปลี่ยนจากที่เคยจุดในเปลือกหอยมาเป็นการจุดเทียนไขแทน และจำกัดเฉพาะในบริเวณวิหารพระม้าแห่งเดียวต่างจากเดิมที่เคยจุดหรือจองเปรียงกันทั่วไปทั้งวัด

ความสำคัญ

            เป็นการทำบุญด้วยธูปเทียนและดอกไม้ เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาเพื่อให้พระสงฆ์ที่จำพรรษา ได้นำธูปเทียนใช้บูชาพระรัตนตรัยตลอดพรรษา ๓ เดือน


พิธีกรรม

          วันประกอบพิธีตักบาตรธูปเทียน เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มพิธีเข้าพรรษา พิธีการตักบาตรธูปเทียน
จึงเริ่มในตอนบ่าย โดยพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ต่างพากันมายืนเรียงแถวในบริเวณลานวัด โดยมี
ย่ามคล้องแขนทุกรูป เพื่อเตรียมบิณฑบาต เมื่อถึงเวลาบ่ายประมาณ ๑๖ นาฬิกา พุทธศาสนิกชนจะ
นำธูปเทียน ไม้ขีดไฟ และดอกไม้ มาใส่ย่ามถวายพระสงฆ์เป็นอันเสร็จพิธี
แนวคิด/คุณค่า

           1.สะท้อนให้เห็ถึงความยึดมั่นในการนับถือศาสนา
           2.เพื่อความสุขใขจากบุญกุศลที่ได้ทำบุญตักบาตรธูปเทียน  
           3.เป็นการอบรบให้ลูกหลานที่ไปร่วมพิธีตักบาตรธูปเทียนได้มีความรู้ความเข้าใจในประเพณีท้องถิ่น

งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ



ช่วงเวลา เริ่มงานวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (วันออกพรรษา) ของทุกปี

ความสำคัญ
งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น โดยเฉพาะการขึ้นโขนชิงธง ที่นายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรงเพื่อให้นายหัวเรือคว้าธงที่ทุ่นเส้นชัย โดยการขึ้นโขนเรือ

พิธีกรรม
การแข่งเรือของอำเภอหลังสวนเริ่มมีครั้งแรกในสมัยพระยาจรูญราชโภคากร เป็นเจ้าเมืองหลังสวน เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นการลากพระชิงสายกันในแม่น้ำ โดยใช้เรือพายเป็นเรือดึงลากแย่งกัน วัด หรือหมู่บ้านใดมีเรือมากฝีพายดี ก็แย่งพระไปได้ อัญเชิญพระไปประดิษฐานไว้ในวัดที่ตนต้องการ มีงานสมโภชอย่างสนุกสนานในตอนกลางคืน รุ่งเช้าถวายสลากภัต
ต่อมาสมัยหลวงปราณีประชาชน อำมาตย์เอก ได้ดัดแปลงให้มีสัญญาณในการปล่อยเรือโดยใช้เชือกผูกหางเรือคู่ที่จะแข่ง ให้เรือถูกพายไปจนตึงแล้วใช้มีดสับเชือกที่ผูกไว้ให้ขาด
ลักษณะของเรือที่ใช้แข่งในปัจจุบันขุดจากไม้ซุง (ตะเคียน) ทั้งต้น ยาวประมาณ ๑๘-๑๙ เมตร มีธงประจำเรือติดอยู่ เรือแข่งจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ฝีพาย ๓๐ คน และฝีพาย ๓๒ คน ฝีพายจะนั่งกันเป็นคู่ ยกเว้นนายหัวกับนายท้าย เรือแต่ละลำจะมีฆ้องหรือนกหวีดเพื่อตีหรือเป่าให้จังหวะฝีพายได้พายอย่างพร้อมเพรียงกัน
รางวัลสำหรับการแข่งขันในสมัยก่อน เรือที่ชนะจะได้รับผ้าแถบหัวเรือ ส่วนฝีพายจะได้รับผ้าขาวม้าคนละผืน ต่อมาเป็นการแข่งขันชิงน้ำมันก๊าด เพื่อนำไปถวายวัด เพราะเรือส่วนใหญ่เป็นเรือของวัด และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา เป็นการแข่งขันเพื่อชิงโล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กติกาการปล่อยเรือและการเข้าเส้นชัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ เช่น ในปัจจุบันมีการแบ่งสายน้ำโดยการจับสลาก กำหนดระยะทางที่แน่นอน คือ ๕๐๐ เมตร มีเรือเข้าร่วมแข่งขันทั้งเรือในท้องถิ่นจังหวัดชุมพรเอง และเรือจากต่างจังหวัด สถานที่คือวัดด่านประชากร

สาระ
แสดงถึงความสามัคคีและความพร้อมเพรียงที่แสดงออกในรูปของการกีฬา และเป็นการสืบทอดประเพณีอันยาวนานของท้องถิ่น